เมนู

บทว่า พนฺธวานิ ได้แก่ พวกพ้อง 4 ประเภท คือ ญาติ โคตร
มิตร และเพื่อนเรียนศิลปะ. บทว่า ยโถธิกานิ คือ ซึ่งตั้งอยู่ตามส่วนของ
ตน ๆ นั่นเทียว. บทที่เหลือ มีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
ปุตตทารคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 27


คาถาว่า สงฺโค เอโส ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในกรุงพาราณสี มีพระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า
ปาทโลลพรหมทัต ท้าวเธอเสวยยาคู หรือพระกระยาหาร แต่เช้าตรู่
ทรงชมนักฟ้อน 3 ประเภทในปราสาททั้ง 3 คำว่า นักฟ้อน 3 ประเภท
ได้แก่ นักฟ้อนที่มาจากพระราชาในอดีต 1 นักฟ้อนที่มาจากพระราชาถัดมา 1
นักฟ้อนที่ตั้งขึ้นในรัชกาลของพระองค์ 1.
ในวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นสาวแต่เช้าตรู่
สตรีนักฟ้อนทั้งหลายคิดว่า พวกเราจักให้พระราชาทรงรื่นเริง จึงประกอบ
การฟ้อนรำ ขับร้อง และการประโคม อันน่าจับใจยิ่ง ดุจพวกนางอัปสร
ของท้าวสักกะจอมทวยเทพฉะนั้น พระราชาไม่ทรงพอพระราชหฤทัยว่า การ
ฟ้อนรำของนักฟ้อนรุ่นสาวทั้งหลายนั่น ไม่อัศจรรย์ จึงเสด็จไปสู่ปราสาทของ
นักฟ้อนรุ่นกลาง สตรีนักฟ้อนแม้เหล่านั้น ก็ได้กระทำอย่างนั้นเหมือนกัน.
พระองค์ไม่พอพระราชหฤทัยในสตรีนักฟ้อนรุ่นกลางแม้นั้นเหมือนกัน จึงเสด็จ
ไปสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นใหญ่ สตรีนักฟ้อนแม้เหล่านั้น ก็ทำอย่างนั้น
เหมือนกัน.

พระราชาทรงเห็นการฟ้อนรำเป็นเช่นกับการเล่นกระดูก เพราะสตรี
นักฟ้อนเหล่านั้นเป็นคนแก่เฒ่าล่วง 2-3 รัชกาลมาแล้ว และทรงฟังเสียง
ขับร้องอันไม่ไพเราะ จึงเสด็จสู่ปราสาทของนักฟ้อนรุ่นสาว ปราสาทของนัก
ฟ้อนรุ่นกลางไป ๆ มา ๆ อย่างนี้ ก็ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยในที่แห่งไหนเลย
ทรงพระราชดำริว่า สตรีนักฟ้อนเหล่านี้ ประสงค์จะให้เรารื่นเริง ดุจเหล่า
นางอัปสรของท้าวสักกะ จอมทวยเทพฉะนั้น จึงประกอบการฟ้อนรำ การ
ขับร้อง และการประโคม เต็มความสามารถทุกอย่าง เรานั้นไม่พอใจในที่
แห่งไหนเลย ทำให้โลภะเจริญขึ้นเท่านั้น ก็ขึ้นชื่อว่า โลภะนั้นเป็นธรรมพึง
ให้ไปสู่อบาย เอาเถิด เราจะข่มโลภะ ดังนี้แล้ว ทรงสละราชสมบัติ ทรง
ผนวชแล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่ ก็ทรงทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณ จึงได้
ตรัสอุทานคาถานี้ว่า
สงฺโค เอโส ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ
อปฺปสฺสาโท ทุกฺขเมตฺถ ภิยฺโย
คณฺโฑ เอโส อิติ ญตฺวา มติมา
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป

บัณฑิตทราบว่า ความเกี่ยวข้องใน
เวลาบริโภคเบญจกามคุณนี้ มีสุขน้อย มี
ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก ดุจหัวฝี ดังนี้
แล้ว มีความรู้ พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน
นอแรด ฉะนั้น ดังนี้.

คาถานั้นมีอรรถว่า บทว่า สงฺโค เอโส ความว่า พระปัจเจก-
พุทธเจ้าแสดงการอุปโภคของตน ด้วยว่า ความเกี่ยวข้องนั้น ชื่อว่า สังคะ
เพราะอรรถว่าสัตว์ทั้งหลายข้องอยู่ในเบญจกามคุณนั้น ดุจช้างตกอยู่ในเปือกตม
ฉะนั้น.
บทว่า ปริตฺตเมตฺถ โสขฺยํ ความว่า ในกาลแห่งบริโภคเบญจ-
กามคุณนี้ ชื่อว่ามีสุขน้อย เพราะอรรถว่า ลามก โดยให้เกิดความสำคัญผิด
หรือโดยเนื่องด้วยกามาวจรธรรม มีอธิบายว่า มีนิดหน่อย คือมีชั่วคราว
ดุจสุขในการชมดูการฟ้อนรำที่แสงฟ้าแลบให้สว่างขึ้น ฉะนั้น. โทษของกาม
ทั้งหลาย พึงทราบว่า มีความยินดีน้อย เป็นเพียงหยดน้ำ เมื่อเทียบกับทุกข์
ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ โดยนัยอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตร
ในโลกนี้ ย่อมสำเร็จการเลี้ยงชีพ ด้วยการประกอบศิลปะใด คือ การคิด
การนับ ดังนี้เป็นต้น โดยที่แท้ มีทุกข์ยิ่ง คือ มาก เป็นเช่นกับน้ำในสมุทร
ทั้งสี่ เพราะฉะนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า มีความยินดีน้อย มีทุกข์
มาก ดังนี้.
บทว่า คณฺโฑ เอโส ความว่า เบญจกามคุณนี้ เปรียบเหมือน
เบ็ด ด้วยสามารถแสดงความยินดีแล้ว คร่ามา. บทว่า อิติ ญตฺวา มติมา
ความว่า บุรุษผู้บัณฑิตที่มีความรู้ รู้อย่างนี้แล้ว ก็พึงละกามทั้งหมดเสีย
เที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้นแล.
สังคคาถาวัณณนา จบบริบูรณ์

คาถาที่ 28


คาถาว่า สนฺทาลยิตฺวาน ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร ?
ได้ยินว่า ในพระนครพาราณสี มีพระราชาพระนามว่า อนิวัตต-
พรหมทัต
ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่สงคราม ทรงปราชัยแล้วไม่เสด็จกลับ หรือ
ทรงปรารภพระราชกิจอย่างอื่นยังไม่สำเร็จ ก็ไม่เสด็จกลับ เพราะฉะนั้น ชน
ทั้งหลายจึงเรียกพระองค์อย่างนั้น ในวันหนึ่ง พระองค์เสด็จไปสู่พระราชอุทยาน
ก็โดยสมัยนั้น ไฟป่าได้ลุกไหม้ ไฟนั้นไหม้ไม้แห้ง และวัตถุมีหญ้าเป็นต้น
ที่ตกหล่น ลามไปไม่หวนกลับ พระราชาทรงเห็นไฟนั้นแล้ว ทรงยังนิมิตอัน
เปรียบด้วยไฟนั้นให้เกิดขึ้นว่า ไฟป่านี้ฉันใด ไฟ 11 อย่าง ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ไหม้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงไปไม่หวนกลับ ก่อทุกข์ใหญ่ให้เกิดขึ้น ชื่อในกาลไหน
หนอ แม้เราเพื่อไม่ให้ทุกข์นี้หวนกลับ พึงเผาไหม้กิเลสทั้งหลาย ด้วยไฟ
คือ อริยมรรคญาณ เหมือนไฟนี้ ไปไม่หวนกลับ.
แต่นั้น พระองค์เสด็จไปสักครู่ ทรงเห็นชาวประมงทั้งหลายกำลังจับ
ปลาในแม่น้ำ ปลาใหญ่ตัวหนึ่งติดข่ายของชาวประมงเหล่านั้น ได้ทำลายข่าย
หนีไป ชาวประมงเหล่านั้นร้องว่า ปลาทำลายข่ายหนีไปแล้ว พระราชาทรง
ฟังคำแม้นั้น จึงยังนิมิตอันเปรียบเทียบด้วยปลานั้นให้เกิดขึ้นว่า ชื่อในกาล
ไหนหนอ แม้เราพึงทำลายข่าย คือ ตัณหาและทิฏฐิ ด้วยอริยมรรคญาณไป
ไม่ติดขัด ดังนี้ พระราชานั้นทรงสละราชสมบัติ ทรงผนวชแล้ว ปรารภ
วิปัสสนา ได้กระทำให้แจ้ง ซึ่งปัจเจกโพธิญาณ และตรัสอุทานคาถานี้ว่า
สนฺทาลยิตฺวาน สํโยชนานิ
ชาลํ ว เฉตฺวา สลิลมฺพุจารี
อคฺคี ว ทฑฺฒํ อนิวตฺตมาโน
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป